สถานะ อภิสิทธิ์ และอำนาจที่แฝงเร้น (2)

 

 

 

ต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว (ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558) อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ Rank สื่อสารผ่านร่างกายและท่าทีที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอยู่ทุกขณะโดยที่เราอาจไม่ค่อยสังเกตเห็น อย่างไรก็ดี เราสามารถฝึกที่จะรู้เท่าทันต่อสัญญาณของสถานะและอำนาจที่ปรากฏในตัวเองและผู้อื่นได้ในชีวิตประจำวันได้

.

การสังเกตสัญญาณของคนที่มี Rank หรือสถานะสูงกว่า

(สามารถสังเกตได้ทั้งในที่ประชุม องค์กร ทีมงาน ครอบครัว สังคม หรือแม้กระทั่งในความสัมพันธ์)

  1. เป็นคนกำหนดเวลา สถานที่ และระยะเวลาในการพูดคุยหรือนัดหมาย
  2. มักพูดก่อน เป็นผู้นำการสนทนา แสดงออกและพูดตอนไหนก็ได้อย่างอิสระ และมีแนวโน้มพูดมากกว่าคนอื่น
  3. เวลามีปัญหามักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา ลูกน้องหรือคนอื่นต้องเปลี่ยน
  4. อยากเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับหรือขอความช่วยเหลือ ชอบให้คำแนะนำหรือเทศน์สอนมากกว่าการรับฟังความรู้สึกของอีกฝ่ายจริงๆ
  5. เป็นผู้กำหนดสไตล์การสื่อสารและคาดหวังให้คนอื่นเป็นเหมือนตน
  6. สามารถสบตาผู้อื่นได้อย่างไม่ประหม่า
  7. มักใช้เหตุผลและเป้าหมายเป็นหลัก มีแนวโน้มที่จะละเลยความรู้สึกของผู้อื่น
  8. ในที่ประชุม มักจะนั่งเอนหลัง ดูมั่นใจผ่อนคลายสบายๆ แม้อยู่ในสถานการณ์ที่กลุ่มมีปัญหาหรือความขัดแย้ง
  9. สามารถที่จะแซวหยอกล้อคนอื่นหรือปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องตลกได้โดยไม่ต้องคิดมาก

.

.


.

ข้อคิดเกี่ยวกับสถานะ อภิสิทธิ์ และอำนาจ

Rank เหมือนยาเสพติด ยิ่งเรามีมากเท่าไหร่ การรู้เท่าทันผลกระทบเชิงลบที่มีต่อผู้อื่นจะยิ่งน้อยลงเท่านั้น Rank ยังมีบทบาทสำคัญต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่ม องค์กร สังคม แต่มักจะเป็นประเด็นแฝงเร้นที่ไม่มีใครสังเกตหรือยากที่จะพูดถึง ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งในการทำงานกับเรื่อง Rank ให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น

.

ช่วงที่ผมเรียนอยู่ในหลักสูตรจิตวิทยาการเป็น Facilitator ของสถาบัน Process Work ที่อเมริกา ในชั้นมีนักเรียน ๑๒ คนจากหลากหลายประเทศ มีชาวเอเชียอยู่เพียง ๓ คน คือผมและเพื่อนญี่ปุ่นอีกสอง เป็นชนส่วนน้อยของกลุ่ม ที่เหลือเป็นชาวตะวันตก เรื่องภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นหลักในการเรียนการสอนแล้ว ผมกับเพื่อนญี่ปุ่นถือว่าเสียเปรียบเพื่อนกลุ่มที่เป็นเจ้าของภาษา (Native speaker) ประมาณ ๔ คน ซึ่งสื่อสารได้คล่องแคล่วกว่ามาก รวมถึงความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และบริบทสังคมตะวันตกมากกว่า (Higher contextual rank) ทำให้เรียนรู้และเข้าใจอะไรได้เร็วกว่า และบ่อยครั้งอาจด้วยความไม่รู้ตัว กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะกินพื้นที่ เบียดบังการเรียนรู้ของเพื่อน เช่น พูดเยอะ ถามเยอะ โดยโฟกัสแต่ประเด็นที่ตนเองสนใจและใช้เวลาของกลุ่มมาก แต่ไม่เป็นประโยชน์กับเพื่อนในห้อง เวลาทำงานกลุ่มก็มักจะชี้นำ ตัดสินใจแทน โดยไม่ได้สังเกตว่าเพื่อนคนอื่นอึดอัดแค่ไหน (Unconscious use of rank)


ผ่านไปหลายเทอม เพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่งรู้สึกถูกกดดันจากบรรยากาศเช่นนี้มาก ถึงกับท้อ หมดกำลังใจ น้ำตาซึม ไม่อยากเรียนต่อแล้ว พอกลุ่มเจ้าของภาษาเห็นเพื่อนร้องไห้ จึงแปลกใจและเริ่มอยากเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนญี่ปุ่นจึงเปิดใจว่า เขารู้สึกว่าบรรยากาศของกลุ่มกดดันเขามาก เช่น บ่อยครั้งเวลาที่เขาตั้งใจจะถามคำถาม หรือแบ่งปันบางประเด็นที่สำคัญในกลุ่มใหญ่ ยังพูดไม่ทันจบก็มักจะถูกแทรก ขัดจังหวะโดยกลุ่มเจ้าของภาษาที่สื่อสารได้คล่องแคล่วกว่า ทำให้เขาตามเพื่อนไม่ทัน ซึ่งถ้าเรื่องราวแบบนี้เกิดในชั้นเรียนเอ็มบีเอ คงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก แต่ในการเรียนรู้ของ Process Work นั้น ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจ

.

วันนั้นเหมือนทุกคนถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมามองเห็นว่า Rank ที่แตกต่างในกลุ่มมีอิทธิพลและบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และความขัดแย้งในชั้น หากเราไม่หยิบขึ้นมาพูดคุยให้เกิดการตระหนักรู้ (Awareness) ร่วมกัน อาจเป็นเหมือนผีตัวหนึ่งที่อยู่ในชั้นบรรยากาศซึ่งกดทับความสัมพันธ์และการเรียนรู้ของกลุ่ม

.

เมื่อทุกคนเปิดใจคุยว่าเราจะใช้ Rank และความได้เปรียบที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์กับกลุ่มได้อย่างไร มีเรื่องให้น่าแปลกใจหลายอย่าง โดยฝั่งเจ้าของภาษาสารภาพว่า เขาไม่รู้และไม่ทันสังเกตเลยว่าเพื่อนที่เงียบๆ ไม่ถามอะไรนักในชั้นเรียน เพราะรู้สึกอึดอัด แต่นึกว่าเข้าใจแล้ว และนึกไม่ถึงว่า เพราะพวกเขาพูดกินพื้นที่ในห้องมากเกินไปจนบดบังคนอื่น ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อนญี่ปุ่นรวมถึงผมด้วยก็เปิดใจว่า ที่เงียบๆ นั้นเพราะหลายครั้งพูดไม่ทัน และไม่อยากเป็นตัวถ่วงเพื่อน แต่ก็รู้สึกอึดอัดมาตลอด เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองในกลุ่ม ถึงจุดนี้ทั้งสองฝ่ายเริ่มคุยกันว่าจะดูแลกันอย่างไรให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

 

เมื่อกลุ่มได้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อนกลุ่มเจ้าของภาษาบอกว่า เขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่าบางครั้งก็เร็วเกินไป ทำให้แทรกขัดจังหวะ กินพื้นที่คนอื่นในห้อง และส่งสัญญาณที่อาจจะดูเหมือนกดทับเพื่อนคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว (Signal of higher rank) พวกเขาขอบคุณมากสำหรับเสียงสะท้อนที่ทำให้ได้เรียนรู้ และอาสาว่าถ้าช่วงไหนที่ภาษายากๆ หรือเป็นเรื่องประเด็นสังคม หรือประวัติศาสตร์ในบริบทตะวันตกที่ชาวเอเชียอาจไม่คุ้นเคย เขาขอเป็นล่ามช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ และจะเป็นเหมือน Facilitator ช่วยดูแลกลุ่ม ให้ทุกคนเข้าใจไปพร้อมๆ กัน ส่วนเพื่อนญี่ปุ่นและผมก็บอกกับกลุ่มว่า ถ้าช่วงไหนไม่ทัน จะยกมือถามทันที และกับบางประเด็น ถ้าเป็นประโยชน์ ก็จะช่วยสะท้อนแง่มุมจากวัฒนธรรมของฝั่งตะวันออกให้เพื่อนๆ ชาวตะวันตกได้เรียนรู้ความแตกต่างมากขึ้นด้วย สรุปผลลัพธ์คือ ไม่ใช่แค่ช่วยให้กลุ่มได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ทุกคนได้ตระหนักรู้และสามารถใช้ Rank ที่มีให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลกับการเรียนรู้ของทุกคนในห้องได้

.

ปัญหาในองค์กร สังคมและโลก ส่วนใหญ่มักเกิดจากผู้นำที่ไม่ตระหนักรู้เท่าทันอิทธิพลของอำนาจและการสื่อสารที่ตนใช้ ทำให้มีแนวโน้มกดทับคนที่มีสถานะต่ำกว่าโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย เช่น เกิดเป็นคลื่นใต้น้ำ ความขัดแย้งเรื้อรัง การก่อการร้ายและสงคราม ทุกวันนี้ ชนชั้นสูง นายทุน หรือผู้มีอำนาจจำนวนไม่น้อยที่เกิดมามีสถานะที่ได้เปรียบในโครงสร้างสังคม แต่กลับใช้อภิสิทธิ์นั้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ผูกขาดอำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้องมากกว่าเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและส่วนรวม

 

ผู้ที่ตระหนักรู้ในสถานะและอำนาจที่ตนมี (Conscious use of rank) จะไม่ดูถูกหรือมองคนอื่นที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่าว่าด้อยกว่า แต่กลับอ่อนน้อมถ่อมตนและมีสติรู้เท่าทันการแสดงออกและสัญญาณที่ตัวเองส่งในการสื่อสารและสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะเขารู้ดีว่าอภิสิทธิ์ที่ได้รับมานั้น ไม่ว่าจะมาจากครอบครัว โครงสร้างทางสังคม หรือด้วยความมานะบากบั่นของเขาเอง เป็นดั่งของขวัญจากโลกเพื่อการช่วยเหลือ แบ่งปัน และสรรสร้าง มากกว่าการเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

.

ถึงที่สุดแล้ว การที่มี Rank และอภิสิทธิ์สูงกว่าคนอื่น เป็นสิ่งที่เราไม่จำต้องรู้สึกผิดหรือพยายามปิดบังซ่อนไว้ แต่ในทางกลับกัน เราควรจะยอมรับ ชื่นชมยินดี และใช้มันอย่างรู้เท่าทัน ถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวเองดูว่า เรามี Rank อะไรบ้างที่มาพร้อมกับอภิสิทธิ์และอำนาจ (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) และเราจะใช้มันอย่างตระหนักรู้เท่าทัน ให้เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์มากกว่านี้ได้อย่างไร การให้คนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่มี Rank ต่ำกว่าช่วยสะท้อน จะช่วยสะกิดและปลุกให้เราตื่นรู้ต่อสถานะและอภิสิทธิ์พิเศษที่เรามีมากกว่าเขาได้ดีทีเดียว บางทีเราอาจค้นพบว่า เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงดีๆ บางอย่างให้กับผู้อื่นและสังคมได้มากกว่าที่เราคิด ……. เพราะอำนาจนั้นถูกแฝงเร้นและบางทีเราอาจไม่รู้ตัว

.

.

ที่มา : โอม รัตนกาญจน์, คอลัมน์จิตวิวัฒน์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2558

http://jitwiwat.blogspot.com/2015/12/blog-post_11.html

Print Friendly, PDF & Email