สถานะ อภิสิทธิ์ และอำนาจที่แฝงเร้น
ในงาน Facilitator จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจกับพลวัตและสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังความแตกต่างขัดแย้งในสังคม องค์กร หรือแม้กระทั่งกับความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คนรอบข้างในชีวิตอย่างมีนัยยะสำคัญ
สิ่งนี้มักถูกแฝงเร้น ยากที่จะสังเกต หากแต่มีอิทธิพลปรากฏอยู่ในทุกๆ การพูดคุยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) นักจิตวิทยาผู้พัฒนางาน Process Work หรือจิตวิทยางานกระบวนการ เรียกสิ่งนี้ว่า “Rank” อันหมายถึงสถานะเชิงอำนาจของบุคคลหนึ่งๆ ซึ่งเป็นตัวกำหนดการสื่อสารและความสัมพันธ์ที่เขามีกับโลกและผู้คนรอบตัว
ที่สำคัญ Rank มาพร้อมกับอภิสิทธิ์ (Privilege) ซึ่งคือผลประโยชน์และความได้เปรียบที่เราได้รับจากการมี Rank นั้น เช่น อภิสิทธิ์ที่ได้เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มีความได้เปรียบเชิงโครงสร้างสังคม มีโอกาสเรียนในสถาบันที่มีชื่อเสียง มีชีวิตที่สะดวกสบาย ไม่ต้องปากกัดตีนถีบด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันอภิสิทธิ์นี้ อีกแง่หนึ่ง ก็มีจุดมืดบอดอาจทำให้เรากลายเป็นพวกสุขนิยม ใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆ ไม่รับรู้ความทุกข์ยากของคนที่มีโอกาสด้อยกว่า หรือเสียเปรียบทางสังคม เช่น คนยากไร้ กลุ่มคนรากหญ้า หรือกลุ่มชายขอบของสังคม เป็นต้น
ในชีวิตประจำวัน เราสื่อสาร Rank ของเราและประเมิน Rank ของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจากการแต่งตัว นาฬิกา กระเป๋า ภาษาที่เราใช้ รถที่เราขับ หลายคนเวลาที่ต้องเข้างานสังคม มักนิยมถามถึงชาติตระกูลหรือการศึกษาว่าเรียนจบอะไร ปริญญาตรี โท เอก ในหรือนอกประเทศ
.
สิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ที่น่าสนใจกว่านั้น Rank บางอย่างก็เป็นสิ่งที่มิใช่ได้รับจากภายนอก หากแต่สามารถบ่มเพาะให้เติบโตได้จากภายใน
Rank 4 ประเภท
- สถานะทางสังคม (Social Rank)
เป็นสถานะที่ถูกให้ความหมายและได้รับจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่เราอยู่ มักมาพร้อมกับอภิสิทธิ์และโอกาสในชีวิตที่แตกต่าง เช่น เชื้อชาติ ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจ เพศ อายุ ศาสนา การศึกษา บุคลิกภาพ รูปร่างหน้าตา สีผิว ภาษา อาชีพ เช่น หมอ มักจะได้รับการยอมรับและชื่นชมจากสังคมมากกว่าอาชีพอื่น คนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศมักได้รับการยอมรับมากกว่าจบในประเทศ ผู้หญิงผิวขาวมักได้รับการยอมรับมากกว่าผู้หญิงผิวดำ ผู้นำชายมักได้รับการยอมรับมากกว่าผู้นำหญิง ผู้ชายที่หย่าร้างสามารถหาคู่แต่งงานใหม่ได้ง่ายกว่าผู้หญิงที่หย่าร้าง เป็นต้น
2. สถานะทางจิตวิทยา (Psychological Rank)
เป็นสถานะของความมั่นคง วุฒิภาวะภายใน การเข้าใจตนเองและผู้อื่น ความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและความขัดแย้งในชีวิตได้ด้วยความเชื่อมั่นและมั่นคงลึกๆ ภายใน มีความเคารพและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม หรือองค์กรที่ตนอยู่ สถานะเหล่านี้มักเป็นผลมาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น พื้นฐานการเลี้ยงดูจากครอบครัว การเผชิญกับอุปสรรคปัญหา ความทุกข์ยากในชีวิต และได้กลับมาทบทวนใคร่ครวญกับตนเองอยู่เสมอ จนเกิดการเรียนรู้และการเติบโตด้านใน
3. สถานะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Rank)
คือสถานะของการก้าวข้ามอัตตาตัวตน และสามารถที่จะเชื่อมโยง เข้าถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ เช่น ธรรมะ พระเจ้า พระอัลเลาะห์ เต๋า ธรรมชาติหรือจักรวาล ส่วนใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นกับผู้ที่สามารถก้าวข้ามผ่านความทุกข์ วิกฤติชีวิต ภาวะใกล้ตาย หรือได้ฝึกปฏิบัติภาวนา จนทำให้ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนและตระหนักต่อสัจจะความจริงของชีวิตมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ของโลกหลายท่าน มหาตมะ คานธี อองซานซูจี หรือแม้แต่ พระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งยอมสละสถานะทางสังคมทั้งหมดที่จะเป็นกษัตริย์ทิ้ง ออกจากวัง ใช้ชีวิตดั่งขอทานหรือนักบวช เพื่อแสวงหาการหลุดพ้นหรือนิพพาน
4. สถานะเชิงโครงสร้าง/บริบท (Structural/ Contextual Rank)
คือสถานะที่ขึ้นกับโครงสร้างของบริบทสังคม องค์กรหรือกลุ่มๆ หนึ่ง ที่อาจมีข้อตกลงและการยอมรับไม่เหมือนกัน เช่น โครงสร้างตำแหน่งหน้าที่ในองค์กร ก็จะมี CEO ผู้จัดการ พนักงาน แต่ในธุรกิจครอบครัวก็อาจมีโครงสร้างเชิงอำนาจอีกแบบ เช่น ลูกชายอาจจะมีตำแหน่ง CEO แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจตัวจริงอาจจะเป็นพ่อของเขาที่นั่งจิบชาอยู่บ้าน เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ภาษาก็เป็นสถานะเชิงบริบทได้ ในงานสัมมนาหรือการประชุมที่เป็นสากล ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ก็จะมีความมั่นใจกว่า สามารถสื่อสาร และมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนกับการพูดคุยได้มากกว่า ในขณะที่คนใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก ก็อาจรู้สึกว่ายากที่จะมีส่วนร่วม และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า
ในความหมายนี้ Rank จึงมีความเป็นพลวัต มีการแปรเปลี่ยนไปตามบริบทชีวิตและปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่นตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น ผู้บริหารคนหนึ่งมีสถานะและอำนาจสูง เป็นผู้นำเมื่ออยู่ในองค์กร แต่เมื่อกลับบ้านไปเขากลับพบว่าภรรยามีอำนาจเหนือกว่าชัดเจนที่จะตัดสินใจอะไรหลายๆ อย่างในบ้านและเป็นผู้นำครอบครัว หรือ ผู้หญิงคนหนึ่งประสบความสำเร็จมากในหน้าที่การงาน ได้รับการยอมรับจากคนในแวดวง แต่ในมุมชีวิตความรัก เธอกลับรู้สึกว่าตัวเองมีสถานะต่ำ ไม่เคยสมหวังเรื่องความรัก รวมถึงลึกๆ ไม่มีความมั่นใจในสรีระของตน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองตลอดเวลาว่าไม่ดีพอ หรือ ชายหนุ่มอีกคน เกิดมาพร้อมร่างกายที่ไม่ครบ 32 หากมองในแง่สถานะทางสังคม ความพิการทำให้เขาดูด้อยกว่าคนปกติ รู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง หากแต่ด้วยการต่อสู้ชีวิตตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาได้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพและเสียงตัดสินของสังคม มีความเคารพในสิ่งที่ตัวเองเป็น มีความมั่นคงภายในที่จะเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต
ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านหละครับ มีสถานะ (Rank) และอภิสิทธิ์ (Privilege) อะไรบ้างในชีวิต ลองนึกหรือเขียนออกมาดู และในตอนต่อไป จะมาสำรวจกันต่อว่าเราจะใช้ Rank ที่มีอย่างตระหนักรู้เท่าทัน เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคมได้อย่างไร
.
.
อ่าน สถานะ อภิสิทธิ์ และอำนาจที่แฝงเร้น (ตอนที่ 2) …. คลิก ……
ที่มา : โอม รัตนกาญจน์, คอลัมน์จิตวิวัฒน์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 ธันวาคม 2558