ผู้ก่อการร้ายจะกลับมา หากเรายังไม่เห็นเงาตัวเอง
เราไม่สามารถกำจัดผู้ก่อการร้ายให้หมดสิ้นไปจากโลกได้ เขาจะกลับมาใหม่ด้วยโฉมหน้าที่เปลี่ยนไป…
เหตุระเบิดหน้าศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เดือนที่ผ่านมา ผมได้ติดตามข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ด้วยความสนใจ เพราะจากนี้ไป เรื่องนี้คงจะเกี่ยวข้องกับชีวิตและความสงบสุขปลอดภัยของคนไทยอย่างเราไม่น้อย เท่าที่ได้ติดตามข่าวจากสื่อต่างๆ ดูแล้ว วิธีการแก้ไขปัญหาและการกอบกู้สถานการณ์ที่ผ่านมาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ การพยายามค้นหาตัวผู้ก่อการร้ายและผู้บงการเบื้องหลัง ซึ่งดูแล้วเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก ต้องทุ่มเทเวลาและแรงกายแรงใจในการสืบค้นติดตาม และถึงแม้ตอนนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะหาตัวผู้บงการที่แท้จริงได้หรือไม่ เพราะเรื่องราวเริ่มจะสลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกับผู้ก่อการร้ายสากลมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่เราควรได้กลับมาทบทวน ตรวจสอบกัน ที่ยังไม่ต้องไปไกลถึงกลุ่มก่อการร้ายนอกประเทศ ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจจะมีบางแง่มุมของเรื่องราวนี้ที่เรามองข้ามไป หรือแม้กระทั่งไม่อยากพูดถึง
หลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเรียนอยู่ในหลักสูตรจิตวิทยา The Art of Conflict Facilitation หรือศิลปะในการคลี่คลายความขัดแย้ง กับ อาร์โนล มินเดล (Arnold Mindell) นักจิตวิทยาและกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการคลี่คลายความขัดแย้งระดับโลกในหลายๆ ประเทศมากว่า ๓๐ ปี โดยใช้วิธีคิดและมุมมองของจิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า Process Work เพื่อที่จะมองและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวม เขาพบว่า เวลาที่หลายประเทศเกิดการก่อการร้าย วิธีการแก้ปัญหาหลัก มักจะมุ่งไปที่การพยายามค้นหากลุ่มผู้ก่อการร้าย จับตัว และกำจัดให้หมดสิ้น ซึ่งวิธีการนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่จำเป็นและควรทำอย่างเอาจริงเอาจังและเป็นมืออาชีพ แต่ในวิถีทางของการแก้ปัญหาระยะยาวเชิงป้องกัน (Preventive action) นั้น หลายประเทศได้ละเลย หลงลืมไป ซึ่งเป็นเหตุให้การก่อการร้ายจะมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
เวลาเกิดเหตุก่อการร้ายเช่นนี้ นอกจากการสร้างความปั่นป่วนแล้ว ในแง่หนึ่ง การก่อการร้ายนี้เป็น wake up call ที่สำคัญ เป็นสัญญาณเตือนราวกับเอาค้อนทุบหัวว่า ระบบในเชิงโครงสร้างสังคมของประเทศนั้นกำลังอยู่ในภาวะไม่สมดุลอย่างหนัก สิ่งที่ประเทศนั้นควรกลับมาทบทวนแก้ปัญหาอย่างจริงจังนั้นมีหลายประเด็นที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างเชิงอำนาจในการบริหารประเทศ ความสัมพันธ์และพลวัติของขั้วอำนาจต่างๆ (Power dynamics) ที่เกี่ยวกับชนชั้น เชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม ปัญหาคนชายขอบ (Marginalized group) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ มักเป็นมูลเหตุปัจจัยในระดับรากเหง้าที่เอื้อต่อการก่อการร้าย ที่เราควรกลับมาใส่ใจ ตั้งคำถาม ทบทวน ตรวจสอบกันอย่างเปิดเผยและจริงใจ
มินเดลได้กล่าวไว้ว่า “เราอาจจะกำจัดผู้ก่อการร้ายได้ แต่เราจะไม่สามารถกำจัดบทบาท (role) ของผู้ก่อการร้ายได้” พวกเขาจะกลับมาใหม่ด้วยโฉมหน้าที่เปลี่ยนไป เมื่อสังคมหลงลืม หรือละเลยบางอย่างที่สำคัญ แนวคิดเรื่องนี้เชื่อว่า บทบาทนั้น เป็นสิ่งที่ไปพ้นตัวตนบุคคล (Role is beyond a person) หากแต่เป็นสิ่งที่มีมาอยู่คู่กับโลกซึ่งเปรียบเสมือนโรงละครแห่งจักรวาล สมมุติ เช่น เราอาจจะฆ่ามุสโสลินี หรือสตาลินให้ตายไปจากโลกนี้ แต่เราจะไม่มีทางฆ่าบทบาทของเผด็จการ (role of dictator) ได้ บทนี้จะยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของโลก ในช่วงเวลาต่างยุคต่างสมัย เช่น ในยุคต่อมาก็จะมี ฮิตเลอร์ ซัดดัม หรือผู้นำเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นเป็นต้น ในแง่มุมหนึ่ง เผด็จการมักถูกเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้นในยุคที่ภาวะผู้นำและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในสังคมอ่อนแอ จนเป็นเหตุกระตุ้นให้คนบางคน หรือบางกลุ่ม ถูกขับเคลื่อน เหนี่ยวนำที่จะมาสวมบทเผด็จการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ตัดสินใจแทนให้กับสังคม
เช่นเดียวกันกับผู้ก่อการร้าย ถึงที่สุดแล้ว ถ้าโชคดี เราอาจจะสามารถติดตามจับกุมผู้ก่อการร้ายชุดนี้และผู้อยู่เบื้องหลัง หรือผู้บงการ จับมาดำเนินคดี หรือแม้กระทั่งขังคุก ประหารชีวิตได้หมดได้ … แต่ปัญหาจะไม่ได้สิ้นสุดแค่นั้น หากเราหลงลืมที่จะกลับมาทบทวน ตรวจสอบตัวเอง ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยระดับรากเหง้าซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่พอใจทางสังคม ความตึงเครียดทางการเมือง ที่เอื้อต่อการสร้างความปั่นป่วนหรือก่อเหตุวุ่นวายได้ หากเราละเลยที่จะกลับมาแก้ไข ทบทวนเรื่องราวนี้อย่างจริงจัง สัญญาณนี้จะแรงขึ้นเรื่อยๆ และการก่อการร้ายจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ที่สุดแล้วระเบิดหรือสงคราม คือการสื่อสารอย่างหนึ่งเมื่อมนุษย์คุยกันไม่รู้เรื่อง อะไรคือข้อความสำคัญเบื้องหลังเหตุการณ์และการสูญเสียครั้งนี้ ขอให้เราลองได้ใคร่ครวญ
พูดเรื่องนี้ให้เข้ามาใกล้ตัวสักหน่อย เพื่อที่จะได้เข้าใจมากขึ้น ใช่หรือไม่ว่า เราทุกคนต่างมีบางแง่บางมุมของชีวิตที่มีความเป็นกบฏ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ก่อการร้าย เช่น ในครอบครัว องค์กร ระบบการศึกษา หรือสังคมที่เราอยู่ มีบางมุมไหมที่เรารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลัก รู้สึกไม่เข้าพวก ไม่ได้รับการยอมรับ หรือแม้กระทั่งถูกปฏิเสธ ความรู้สึกเองเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นที่จะเหนี่ยวนำให้เราเข้าสู่บทบาท (Role) ของกบฏ
ในเวิร์กช็อปที่ผมจัด บ่อยครั้งที่มีพ่อแม่หลายคนได้แชร์ปัญหาให้ฟังว่า พอลูกเข้าสู่วัยรุ่น ลูกเขากลายเป็นพวกดื้อรั้น ไม่ฟังใคร หลายคนกลายเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหาชีวิต เกเร ติดเหล้า ติดยา เรียนหนังสือไม่จบ ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของครอบครัว ถึงจุดหนึ่งเมื่อเจอกรณีแบบนี้ซ้ำๆ ผมเริ่มพบว่า ปัญหาเด็กวัยรุ่นที่อาจเรียกได้ว่าเด็กกบฏเหล่านี้ มีเหตุปัจจัยไม่น้อยที่มาจากครอบครัว หรือพ่อแม่ที่อยู่ในบทเผด็จการอย่างไมรู้ตัว หรือมีการเลี้ยงดูด้วยสไตล์การควบคุม บังคับให้เป็นไปตามสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ มากกว่าที่จะให้เขาเติบโตงดงามในแบบที่เขาเป็น ผมรู้จักหลายครอบครัวที่พ่อแม่เป็นคนเก่ง เป็นนักวิชาการ แต่ลูกกลับไม่เอาดีทางนี้เลย แต่กลายเป็นศิลปิน เดินสวนทางกับสิ่งที่พ่อแม่เป็น ถึงจุดหนึ่งความแตกต่างไม่ใช่ปัญหา แต่ความเข้าใจต่างหาก ที่นำพาให้พวกเขาได้กลับมาเปิดใจ ยอมรับ เข้าใจกันอีกครั้ง เรียกว่าต้องกลับมาเรียนรู้ที่จะสร้างระบบนิเวศของการอยู่ร่วมกันใหม่ให้แต่ละคนได้รับการมองเห็นคุณค่า ยอมรับในความแตกต่างและสิ่งที่แต่ละคนเป็นจริงๆ จึงจะสามารถกลับมาอยู่ในบ้านเดียวกันอย่างสันติสุข ผมพบว่ากุญแจสำคัญนั้นคือพ่อแม่จะต้องกลับมาเริ่มตระหนักว่า ความเป็นกบฏหรือปัญหาชีวิตของลูกนั้น ตัวเองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย
ในทุกหน่วยของสังคม (Social unit) จะต้องมีคนที่เป็นเป็นกบฏ หรือ ผู้ก่อการร้าย คนที่เป็นกระแสหลัก (Majority) ก็มักจะมองว่าเขาเป็นตัวปัญหา และอยากจะขจัด เปลี่ยนทัศนคติ หรือแม้กระทั่งขับไล่ไปให้หมดสิ้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่า เขากำลังนำเอาของขวัญที่ภายนอกดูน่ากลัวราวกับมัจจุราช แต่ภายในได้บรรจุสิ่งล้ำค่าที่เราอาจหลงลืม ในจิตวิทยาการคลี่คลายความขัดแย้งของ Process Work นั้นเชื่อว่า แท้จริงแล้ว บทบาทของผู้ก่อการร้ายนั้นคือ ตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ให้ผู้คนได้วิวัฒน์จิตสำนึกร่วมของสังคม และยกระดับประชาธิปไตยของการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ เสมอภาคและเท่าเทียมยิ่งขึ้น
อยากจะบอกกับท่านผู้อ่านว่า ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ มิได้ต้องการที่จะเข้าข้างผู้ก่อการร้าย หรือเห็นดีกับการก่อการโศกนาฏกรรมครั้งนี้ แต่ด้วยความรู้สึกเศร้าเสียใจที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในบ้านเราและก่อให้เกิดความสูญเสียกับหลายชีวิตและครอบครัว จึงตั้งใจเขียนบทความชิ้นนี้ออกมาด้วยเจตนาที่จะถ่ายทอดมุมมอง ความเข้าใจในอีกศาสตร์หนึ่งที่ลึกซึ้ง ของงานจิตวิทยาการคลี่คลายความขัดแย้งสำหรับโลกยุคใหม่ โดยหวังว่าจะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการป้องกันเหตุภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นเช่นนี้อีกในอนาคต
เมื่อมีก่อการร้ายเกิดขึ้น ขอเราจงอย่าเพียงแต่พยายามตามหาตัวผู้ก่อการ แต่จงสืบค้นลึกลงไปถึงรากเหง้าแห่งปัญหาอันเป็นมูลเหตุปัจจัยของการก่อการนั้น ถึงที่สุดแล้ว เราอาจตระหนักได้ว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอันสลับซับซ้อนและการก่อการที่รุนแรงนี้เช่นกัน … ผู้ก่อการร้ายไม่มีวันตาย หากเรายังไม่เห็นเงาตัวเอง
ที่มา : โอม รัตนกาญจน์, คอลัมน์จิตวิวัฒน์หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กันยายน 2558