วิถีแห่งสัตบุรุษ

วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ประเทศไทยได้ประสบกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ผมอยากใช้โอกาสนี้เขียนเพื่อน้อมเกล้าไว้อาลัยถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสะท้อนถึงหัวใจที่กรุณาและยิ่งใหญ่ในตัวพระองค์ ไม่แปลกเลยที่พสกนิกรไทยหลายสิบล้านต่างโศกเศร้า เพราะพระองค์ท่านเป็นดั่งพ่อของคนไทยทั้งชาติ สิ่งที่ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดตลอด ๗๐ ปีของการครองราษฎร์ ไม่อาจจะบรรยายได้หมดสิ้น ที่อยากกล่าวถึงที่สุด นอกเหนือจากความเป็นพระมหากษัตริย์ หรือพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย คือ คุณสมบัติที่ยิ่งใหญ่ของในหลวง ที่เรียกว่า ความเป็นสัตบุรุษ (Eldership)

 

อาร์โนล มินเดล อาจารย์ของผมคนหนึ่งผู้พัฒนางานจิตวิทยากระบวนการ (Process Work) เพื่อการขับเคลื่อนโลกและสังคม ได้ใช้เวลากว่า ๔๐ ปี ในชีวิตเพื่อศึกษาและสร้างกระบวนการบ่มเพาะผู้นำที่เรียกว่า “สัตบุรุษ” เขาพบว่าคนที่เป็นสัตบุรุษนั้นหาได้ยากยิ่งในโลก และสัตบุรุษนั้นเองคือผู้ที่จะนำพามนุษยชาติไปสู่สันติภาพ การอยู่ร่วมและความสงบสุขอันแท้จริง


 

สัตบุรุษคือใคร

สัตบุรุษคือ ผู้ที่มองเห็นผู้คนในโลกและสังคมที่เขาอยู่เป็นดั่งลูกและครอบครัว คือผู้นำที่ไปพ้นผู้นำ กล่าวคือ ผู้นำส่วนใหญ่นั้น ทำงานเพื่อความสำเร็จและการยอมรับ แต่สัตบุรุษทำงานอย่างข้ามพ้นตัวตน เขาไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง ดั่งคำสอนของเต๋าที่กล่าวว่า “ฟ้าดินยืนยง เพราะมิได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง” หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น มหาตมะ คานธี แม่ชีเทเรซ่า ท่านดาไลลามะ ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของสัตบุรุษ ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง สับสน และผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก ภารกิจของสัตบุรุษที่มีร่วมกันอันหนึ่งคือ การสร้าง “ความรู้สึกของการมีบ้าน” ให้แก่ทุกคน สัตบุรุษนั้นยิ่งใหญ่กว่าผู้นำ สัตบุรุษคือ ผู้ที่มีหัวใจของพระโพธิสัตว์ มีจิตของมหาบุรุษ ถ้าจะพูดให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้นำและสัตบุรุษ อาจเปรียบเทียบได้ว่า

 

ผู้นำพยายามสร้างผู้ตาม แต่สัตบุรุษสร้างผู้นำหรือสัตบุรุษเช่นเดียวกันกับตัวเขา

ผู้นำดูแลเสียงส่วนใหญ่ สัตบุรุษให้คุณค่ากับทุกเสียง

ผู้นำพยายามจะหยุดยั้งปัญหา แต่สัตบุรุษเห็นปัญหาเป็นครูและเรียนรู้จากสิ่งนั้น

ผู้นำพยายามทำตัวเป็นผู้รู้และเชื่อในปัญญาของตน แต่สัตบุรุษเชื่อในปัญญาแห่งธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าตน

 

ในมุมหนึ่งของความเป็นสัตบุรุษ ในหลวงทรงแลเห็นจิตวิญญาณของแผ่นดินและราษฎรไทย พระองค์ทรงได้ดึงแก่นแท้ ภูมิปัญญา ที่เหมาะกับวิถีชีวิตและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ไม่ต้องแห่ไปตามกระแสแบบโลกตะวันตก ดังตัวอย่างสำคัญ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๔๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ


 

แง่มุมที่สำคัญของสัตบุรุษ

ความเป็นสัตบุรุษ มิได้ขึ้นอยู่กับอายุ บทบาท หรือชนชั้นทางสังคม แต่เป็นกระบวนการเติบโตด้านใน ที่ถูกบ่มเพาะจากการผ่านชีวิต ความทุกข์ ความเจ็บปวด การสูญเสีย จนกระทั่งหัวใจของเขาเปิดออก และตระหนักได้ถึงจิตวิญญาณของเพื่อนมนุษย์ที่มีร่วมกัน อาจพูดได้ว่าแท้จริงแล้ว สัตบุรุษ คือ “ผู้เยียวยาผู้ผ่านความทุกข์มาก่อน” เขาจึงเข้าใจความทุกข์และหัวใจของเพื่อนมนุษย์ได้ดี และแปรเปลี่ยนพลังนั้นไปสู่ความกรุณา การช่วยเหลือ และเยียวยาผู้คน

 

สัตบุรุษ คือผู้ที่มีสายตาแลเห็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เขามีการรับรู้ในสัญญาณที่ละเอียดอ่อน เขาใช้ญาณทัศนะทำงานกับความจริงในหลายระดับ ทั้งในมิติของการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และยังใส่ใจต่อความรู้สึกนึกคิด สุขทุกข์ของผู้คน และที่สำคัญ เขาค้นหาแก่นสารเบื้องลึกภายใต้วิกฤติหรือปัญหาที่เข้ามา เพื่อสรรสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้แก่ระบบหรือสังคมที่เขาอยู่


 

ในมุมหนึ่งที่สำคัญ เราทุกคนล้วนมีสัตบุรุษดำรงอยู่ภายใน (Inner Elder) เขาเปรียบดั่งตัวตนของผู้เฒ่าผู้โอบรับทุกเสียงในตัวเรา เปี่ยมด้วยความกรุณาและอ่อนโยน เขาเป็นดั่งพ่อแม่ที่รักและให้อภัยเราเสมอ ไม่ว่าเราจะผิดพลาดล้มเหลวกับชีวิตอย่างไร เขาคือเสียงเรียกภายในแห่งการยอมรับ และความรักที่เรามีให้แก่ตนเอง เขาเปรียบดั่งผู้เฒ่าอายุ ๑๐๐ ปี ผู้นำทางเราไปสู่ความเต็มบริบูรณ์ของชีวิต (Wholeness) ผู้ที่ได้ยินเสียงและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับสัตบุรุษภายในของเขา ผู้นั้นจะมีหัวใจที่กล้าหาญและยิ่งใหญ่ มีความไว้วางใจชีวิต เมตตากรุณาต่อตนเองและผู้อื่น เขาเคารพตนเอง แต่มิได้มีชีวิตเพียงเพื่อตัวเอง หากแต่เชื่อว่าชีวิตคือโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการช่วยเหลือผู้คน สังคม และโลกที่เขาอยู่

 

ผู้นำที่สามารถบ่มเพาะความเป็นสัตบุรุษได้แม้เพียงเล็กน้อย จิตวิญญาณของเขาจะมีความเป็นผู้นำที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เขาจะสามารถรับฟังและให้คุณค่ากับเสียงของผู้คนในสังคมที่แตกต่างหลากหลายได้ เขาจะมิได้ดูแลเพียงแค่กลุ่มคนที่อยู่ในกระแสหลัก (Majority) ที่ได้เปรียบในโครงสร้างสังคม แต่จะดูแลกลุ่มที่เป็นเสียงส่วนน้อยหรือชายขอบของสังคม (Minority) ด้วย เขาสามารถทำงานด้วยมุมมองอันลุ่มลึกท่ามกลางมิติทางสังคมที่สลับซับซ้อน เพื่อนำพาขับเคลื่อนผู้คนและประเทศไปในทิศทางที่สอดคล้องกับวิถีแห่งเต๋า หรือที่เรียกว่าปัญญาญาณแห่งธรรมชาติ


 

เราทุกคนเกิดมาบนโลกนี้ด้วยความหมายและภารกิจบางอย่าง ขึ้นอยู่กับเราจะรู้ตัวช้าหรือเร็วหรือเราจะได้ยินเสียงเรียกของสัตบุรุษผู้นั้นเมื่อไร เราทุกคนมีความเป็นสัตบุรุษภายในที่รอคอยการออกมา การที่ในหลวงได้เสด็จสู่สวรรคาลัย อาจหมายถึงภารกิจที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนไทยคือ การเรียนรู้ที่จะเป็นสัตบุรุษแบบพระองค์ท่าน

 

ทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะเป็นบ้านให้กับทุกคน

ทำอย่างไรที่ทุกเสียงที่แตกต่างจะได้รับคุณค่าและความใส่ใจ

ทำอย่างไรที่ทุกศาสนาจะดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

ทำอย่างไรที่เราจะดูแลคนไทยที่ยังคงตกทุกข์ได้ยาก

ทำอย่างไรที่เราจะดำเนินรอยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

…. เป็นไปได้ไหมว่า สิ่งที่ประเทศไทยยังรอคอยอยู่อาจคือ ความเป็นสัตบุรุษ จากพวกเรา

 

 

ที่มา : โอม รัตนกาญจน์, คอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2559

http://jitwiwat.blogspot.com/2016/10/blog-post_21.html#more

Print Friendly, PDF & Email