เล่าเรื่อง PROCESS WORK จิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่ ... ตอน โรงเรียนกระบวนกรที่พอร์ตแลนด์

.

“I learn Process Work by relationship and love.” Dawn Menken

.

หลายปีที่ผ่านมาศาสตร์ของ Facilitator หรือ กระบวนกร เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในเมืองไทย ทั้งในแวดวงการฝึกอบรม การศึกษา และการเปลี่ยนแปลงองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม อาจเป็นเพราะว่าโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง เราอาจกำลังต้องการผู้นำที่มีความเป็นกระบวนกรมากขึ้น ซึ่งหมายถึงผู้นำที่สามารถหลอมรวมความแตกต่างหลากหลาย และนำพาผู้คนให้เกิดการมีส่วนร่วม เรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกันอย่างเคารพเท่าเทียม

 

ส่วนตัวผมเองมักจะมีพี่ๆ น้องๆ ที่รู้จักในแวดวงเขียนมาถามถึงการทำงานและการเรียนรู้ด้านนี้อยู่เป็นระยะ ผมก็มักจะเล่าให้ฟังโดยนัดพูดคุย เขียนแลกเปลี่ยนกันในโซเชียลมีเดีย และหลายท่านคิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้

.
Process work คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

คือ จิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่ว่าด้วยการทำงานกับความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทั้งในระดับปัจเจก สังคม องค์กร ชื่อเต็มคือ Process Oriented Psychology หรือจิตวิทยาเชิงกระบวนการ พัฒนาโดย ดร.อาร์โนล มินเดล นักจิตวิทยาชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของโลก

.

Process Oriented Psychology หรือที่เรียกว่า Process Work เป็นศาสตร์ที่บูรณาการภูมิปัญญาของโลกตะวันออกและตะวันตกหลายแขนงเข้าด้วยกัน โดยมีรากสำคัญ คือ

  1. จิตวิทยาเชิงลึกสายคาร์ล จุง (Jungian Psychology) ว่าด้วยการหลอมรวมด้านที่แตกต่างในจิตใจมนุษย์เพื่อการเติบโตด้านในและมีชีวิตที่สมดุล
  2. ปรัชญาเต๋า ภูมิปัญญาอันเก่าแก่ของจีนโบราณที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลง
  3. ควอนตัมฟิสิกสิ์ วิทยาศาสตร์ใหม่ซึ่งค้นพบและเชื่อในปรากฏการณ์ว่า มนุษย์และสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว

 

Process Work (องค์ความรู้ที่เป็นรากฐานของงาน Facilitation ที่ผมทำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา) เป็นศาสตร์ในการใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤต ปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยช่วยให้เราตระหนักรู้ เข้าใจกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายในตนเองและธรรมชาติภายนอกของผู้คนและโลก เพื่อสามารถนำพาชีวิตไปได้อย่างสอดคล้องกับวิถีแห่งเต๋า ในคำสอนของเต๋าเชื่อว่า ธรรมชาติและสรรพสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เฉกเช่นฤดูกาล แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง บ่อยครั้งชีวิตเราจึงเกิดปัญหาและความติดขัด เช่นเดียวกัน หากเราเป็นผู้นำ และเข้าถึงกระแสธารการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็จะสามารถนำพาผู้คนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคมองค์กรที่เราอยู่ ได้อย่างลื่นไหล มีพลัง และยั่งยืนมากขึ้น


แรงบันดาลใจที่ทำให้สนใจศึกษาต่อด้านนี้ 

หลังจากเรียนรู้และทำงานกระบวนกรมาได้สามสี่ปีกับอาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู ซึ่งถือเป็นครูในงานกระบวนกรและพี่ชายที่เคารพรักคนหนึ่ง ผมรู้สึกอยากหาที่เรียนต่อ แต่เดิมผมเรียนจบมาทางด้านวิศวกรและบริหารธุรกิจ แต่มาพบว่าตัวเองสนใจเรื่องจิตวิทยา หรือการเข้าใจตนเองและชีวิตผู้คนมากกว่า ช่วงนั้น ผมชอบเรียนรู้และเข้าฝึกอบรมเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สจิตวิทยาหรือคอร์สปฏิบัติธรรม ผมได้มีโอกาสเรียนรู้จิตวิทยาเชิงลึกว่าด้วยการเติบโตด้านในหลายๆ ศาสตร์ เช่น จิตวิทยาตัวตน (Voice Dialogue) และการสื่อสารอย่างสันติ (Non-Violent Communication) ซึ่งมีประโยชน์มาจนถึงทุกวันนี้

.

ถึงจุดหนึ่งผมพบว่า ศาสตร์ว่าด้วยการเติบโตด้านใน โดยเฉพาะสายที่มีความลึกซึ้งของโลกหลายๆ แขนง ไม่ได้มีสอนตามมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่มักจะเรียนรู้ฝึกฝนและถ่ายทอดกันในชุมชนเฉพาะ หรือสถาบันที่มีมืออาชีพและคนที่สนใจเหมือนกันมารวมตัวกัน โดยแต่ละสายเองก็มีการพัฒนาองค์ความรู้ของตนสืบเนื่องกันมา

.

วันหนึ่ง เพื่อนกระบวนกรรุ่นพี่ (คุณญาดา สันติสุขสกุล) ชักชวนผมมาเข้าเวิร์คช็อป Process Work ครั้งแรกๆ ในเมืองไทย โดยอาจารย์ประชา หุตานุวัตร ได้เชิญ จิล เอมสลี กระบวนกรชาวสกอตแลนด์จากชุมชนฟินด์ฮอร์น มาอบรมผู้เข้าร่วมชาวไทย ๗ วัน อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจกลับมาหาหนังสือของอาโนลด์ มินเดล อ่านอีกหลายเล่ม รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนฝูงในแวดวง และได้มีโอกาสเรียนรู้กับจิลอีกหลายครั้ง จนถึงจุดหนึ่ง ผมพบว่า Process Work เป็นจิตวิทยาที่ผมสนใจมากที่สุด รู้สึกว่าช่วยตอบโจทย์ทั้งการงานและความสนใจส่วนตัว

.

ผมจึงตัดสินใจไปเรียนหลักสูตรปริญญาโทเชิงวิชาชีพ 3 ปี ของ Process Work Institute สาขา Conflict Facilitation and Organizational Change ที่เมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา สิ่งที่สนใจที่สุดในหลักสูตรนี้คือ การทำงานกับระดับจิตไร้สำนึกร่วมของผู้คน (Collective Unconscious) ถือเป็นงานระดับลึกที่ไม่เห็นในสายอื่นมากนัก

.

ผมรู้สึกทึ่งทุกครั้งเมื่อได้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและมีพลังในตัวผู้คนหรือองค์กร ไม่ได้เกิดเพราะความพยายามบังคับควบคุม แต่เกิดจากการสร้างการตระหนักรู้ ให้ทางเลือก และไว้วางใจปัญญาร่วม หรือความเป็นองค์กรจัดการตนเอง โดยกระบวนกรเป็นเพียงผู้ช่วยของธรรมชาติ นำพาให้ผู้คนได้ค้นพบทางเดิน เจตจำนง และปัญญาญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน นอกจากนี้ Process Work ยังเชื่อว่า การที่เราจะเป็นผู้นำพาผู้คนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม องค์กร และโลกภายนอกนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องทำงานกับด้านในของตนเอง (Inner Work) เพื่อตื่นรู้เท่าทัน เป็นอิสระจากปมและก้าวข้ามความทะยานอยากส่วนตัว


 

บรรยากาศหรือรูปแบบการเรียนการสอนที่โรงเรียน เป็นอย่างไรบ้าง

ที่โรงเรียนจะให้คุณค่ากับเรื่องความแตกต่างหลากหลายมาก เช่น ในหลักสูตรที่ผมเรียน มีนักเรียน ๑๔ คน จาก ๑๑ ประเทศ เขาเชื่อว่า ความแตกต่างคือขุมทรัพย์ของการเรียนรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของระบบคุณค่า ความเชื่อ (Belief Systems) ที่มีเบ้าหลอมต่างกัน ในทุกๆ คลาส ผมสังเกตว่าอาจารย์จะมีการตระหนักรู้เท่าทัน (Awareness) หลายๆ เรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เช่น เรื่องภาษา ถ้าเป็นคลาสนานาชาติทั่วไปก็คงแข่งกันพูด แสดงความคิดเห็นเต็มที่ วัดความเก่งกันตรงนั้น

.

แต่ห้องเรียนที่นี่ ถ้าเราพบว่าตัวเองพูดมากสุดในห้อง ดูเหมือนไม่ค่อยฟังใคร อาจารย์จะให้ข้อสังเกตและฝึกให้เรามีสติถึงสถานะหรือความได้เปรียบบางอย่างที่เราอาจมีมากกว่าคนอื่นในบริบทนั้นโดยไม่รู้ตัว และมีแนวโน้มที่จะกดทับผู้อื่น พูดได้ว่าเขาพยายามสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้ที่มีความเท่าเทียม เขาเชื่อว่าการเป็นผู้นำที่แท้นั้น แทนที่จะใช้อำนาจหรือความได้เปรียบหาผลประโยชน์หรือไปกดทับผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมายอย่างที่เห็นทั่วไปในโลก แต่จงเรียนรู้ที่จะใช้ความได้เปรียบนั้นให้เป็นไปเพื่อการแบ่งปันและเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์

.

สิ่งที่ผมชอบอีกอย่างคือ อาจารย์เกือบทุกคนที่เข้ามาสอนคลาสแรก เขาจะเกริ่นก่อนว่า ถ้าเขาพูดเร็วไปหรือฟังไม่รู้เรื่อง ช่วยเตือนหน่อย โดยเฉพาะคนที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ เพื่อที่ทุกคนจะเดินไปพร้อมกัน ยิ่งกว่านั้น พอจบเทอมทุกวิชา อาจารย์ผู้สอนจะมาขอเสียงสะท้อนกลับจากนักเรียน เปิดพื้นที่ให้ได้คุยกันอย่างเท่าเทียม บางครั้งพาไปกินกาแฟ เลี้ยงข้าวที่บ้านฉันเพื่อน


สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการเรียนรู้ในสถาบัน Process Work คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์และปัญญาปฏิบัติจากรุ่นต่อรุ่น อาจารย์ที่สอนผมก็คือกลุ่มลูกศิษย์ของมินเดล ที่เรียนรู้และอยู่ร่วมกันมากว่า ๓๐ ปี เขาใช้ชุมชนในการสร้างและสังเคราะห์องค์ความรู้ ส่งมอบต่อกันที่เรียกว่า Lineage หรือสายเลือด สายธรรมนั่นเอง

.
ครั้งหนึ่ง ผมเคยถามอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นโค้ชส่วนตัวชื่อ ดร.ดอน เมนเคน เธอเป็นลูกศิษย์อาร์โนล มินเดล อย่างใกล้ชิดมากว่า ๓๐ ปี สิ่งที่ผมสงสัยคือ อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่หล่อเลี้ยงให้เธอเรียนรู้เรื่องๆ เดียวต่อเนื่องมาหลายสิบปี เธอบอกว่า ไม่ใช่ความรู้หรือชื่อเสียง แต่คือความสัมพันธ์และความรักที่เธอมีต่อครู ผู้ที่เธอเรียกว่าอานี่หรืออาร์โนล มินเดล นั่นเอง เธอบอกว่าทุกวันนี้ แม้จะเรียนรู้กับอานี่มายาวนาน แต่ก็ยังมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปนั่งฟัง พูดคุยแลกเปลี่ยนเวลาที่อานี่มาสอน


สิ่งที่เธอพูดนั้น ทำให้ผมรู้สึกเลยว่า การมาเรียนครั้งนี้แตกต่างจากการเรียนรู้ทั้งหมดในชีวิตที่ผ่านมา …เป็นไปได้หรือไม่ว่า พลังการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์นั้น มิใช่มาจากการอ่านหรือเรียนจากตำรา แต่คือวิถีอันเก่าแก่…มนุษย์เรียนรู้ผ่านความผูกพันและความรัก

.

.

ที่มา : โอม รัตนกาญจน์, คอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มีนาคม 2560

http://jitwiwat.blogspot.com/2014/12/blog-post_19.html

Print Friendly, PDF & Email