วิธีอยู่ร่วมกับสมาชิกครอบครัวที่เห็นต่าง (ทางการเมือง) อย่างสันติ

 

 .

.

“วิธีอยู่ร่วมกับสมาชิกครอบครัวที่เห็นต่าง (ทางการเมือง) อย่างสันติ”
.

1. เรากำลังอยู่ท่ามกลางจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทางการเมือง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราตอนนี้ ไม่ใช่แค่ในครอบครัวของเรา แต่เป็นปรากฏการณ์ระดับสังคม และยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆประเทศในมิติที่แตกต่างกัน
.

2. หลายครอบครัว โดยเฉพาะคนต่างเจเนอเรชั่น อาจกล่าวได้ว่า …เราโตมาบนโลกใบเดียวกัน แต่โลกที่หล่อหลอมเรามาในแต่ละยุคสมัย ไม่เหมือนกัน
.

3. ครอบครัวของเราเป็นตัวแทนระบบภาพใหญ่ของสังคม …Conflict ที่เกิดขึ้นในครอบครัวเรา ก็สะท้อน Conflict ที่เกิดขึ้นในระดับสังคม ถ้าเราเข้าใจความแตกต่างในครอบครัว เราก็จะเข้าใจความแตกต่างในสังคมด้วยเช่นกัน
.

4. ไปดูหนังในโรง …คนนึงยืน อีกคนไม่ยืน อยู่บ้านคนนึงชอบฟังข่าวช่องเหลือง อีกคนชอบฟังช่องแดง เราชื่นชอบผู้นำคนนึง แต่กลับเป็นคนที่ลูกเราไม่ชอบ… เราต่างมีเหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อของเรา
.

5. ทำไมลูกเราต้องไปร่วมม็อบ ทำตัวเป็นกบฏ ขัดกับสิ่งดีงามที่บรรพบุรุษเราสืบทอดกันมา …ทำไมพ่อแม่ยังหัวโบราณ อยากให้แค่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่ไม่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความไม่ยุติธรรมในสังคม …บทสนทนาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ยากจะคุยกันรู้เรื่องในระดับมุมมองความคิดสรุปตัดสิน แบบฉันถูกเธอผิด
.

6. ถ้าเลือกที่จะเรียนรู้กับเรื่องนี้ มากกว่าการที่จะมาวิเคราะห์หาว่าใครอยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง …เราอาจลองกลับมาฟังให้ลึกลงไป ถึงระดับที่เรียกว่าระบบคุณค่าและความเชื่อ (Value & Belief System) ในตัวแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน
.

7. ระบบครอบครัว และสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายนั้น ถือเป็นเรื่องดี เพราะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราแต่ละคนให้ความสำคัญและให้คุณค่าในชีวิตแตกต่างกัน มันเป็นกลไกของหยินหยางในธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษยชาติเกิดพลวัติในการพัฒนาและวิวัฒน์ตัวเอง
.

8. ในอีกแง่มุมหนึ่ง มุมมองความคิดเห็นทางการเมือง เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ประสบการณ์ชีวิต สื่อที่เราเสพ สังคมที่เราอยู่ รวมถึงเพื่อนฝูงที่เราคบหา
.

9. แม้เราโตมาในครอบครัวเดียวกัน แต่ความเห็นและจุดยืนทางการเมืองของเราอาจจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราควรให้ความเคารพและให้คุณค่าในความแตกต่าง รวมถึงใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้
.

10. ในครอบครัว หรือกับคนใกล้ตัวที่มีความเห็นต่างอย่างที่ยากจะคุยกันรู้เรื่อง แทนที่จะต้องมาทะเลาะหรือโต้เถียงกัน…สิ่งที่เราทำได้ คือ “ฝึกเข้าใจอีกฝ่ายอย่างเงียบๆ” – ว่าลึกๆแล้วมุมมองความคิดที่แตกต่างนั้น มาจากการให้คุณค่าและความเชื่ออะไรที่ไม่เหมือนกัน
.

11. ถ้าเราฟังลูกของเราลึกถึงระดับเจตจำนงและคุณค่าจริงๆ เราอาจได้ยินเสียงจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ ที่กล้าหาญและปรารถนาจะสร้างการอยู่ร่วมในสังคมที่เท่าเทียม ร้องขอโอกาสที่เยาวชนจะสามารถแสดงออกความคิดเห็น มีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเสมอภาค และสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับยุคสมัยของเขา
.

12. ในฐานะลูก เวลาที่พ่อแม่พยายามตักเตือน ห้ามไม่ให้เราไปร่วมชุมนุม ลึกๆถ้าฟังดีๆมากกว่าเรื่องความเห็นทางการเมือง สิ่งที่พ่อแม่แคร์และรู้สึกกังวลใจจริงๆ อาจเป็นเรื่องความปลอดภัย ว่าอาจมีเหตุการณ์รุนแรงเหมือนในอดีตเกิดขึ้นกับเรา
.

13. ในฐานะพ่อแม่ ถ้าลูกเราไปเข้าร่วมม็อบกับเพื่อนๆ แม้เราไม่เห็นด้วย หรือเป็นห่วงในความปลอดภัย แต่ถ้ามองในอีกแง่มุม อาจถือเป็นเรื่องดี เพราะสิ่งนี้สะท้อนถึงภาวะผู้นำและจิตสำนึกทางการเมืองในตัวของเขาที่กำลังเติบโต เขาอาจกำลังต่อสู้เพื่อโลกที่เขาจะต้องมีชีวิตอยู่ไปอีกนานกว่าเราหลายสิบปี
.

14. ระบบการเมืองก็สะท้อนมาในระบบครอบครัว ถ้าลูกของเราไปร่วมม็อบ เพื่อต้องการการรับฟังจากผู้นำประเทศหรือรัฐบาล …กลับมาที่บ้านหรือในครอบครัว นั่นหมายความว่า เขาก็อาจต้องการการรับฟัง จากพ่อแม่ ไม่แพ้กัน
.

15. ในมุมกลับกัน ถ้าเราเป็นลูก และมีพ่อแม่หรือสมาชิกครอบครัวเห็นต่างกับเรา ขอให้เราเรียนรู้ที่จะเคารพและฝึกที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่างนั้น ในฐานะที่เขาก็เป็นตัวแทนของผู้ใหญ่อีกหลายๆคน ที่โตมาจากโลกที่มีเบ้าหลอมคนละยุคกับเราและเลี้ยงดูเรามาถึงวันนี้ได้
.

16. การที่เราพยายามจะเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของผู้อื่น โดยเฉพาะพ่อแม่ หรือคนรุ่นที่อายุมากกว่าเรา ถือเป็นเรื่องยาก ถึงอาจเป็นไปไม่ได้เลย
.

17. สิ่งที่เป็นไปได้และมีพลังแห่งการสร้างสรรค์อย่างสันติมากกว่านั้น คือ เราลองเริ่มจาก การเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน อย่างที่ มหาตมะ คานธี กล่าวว่า

“ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงโลก เธอจงเป็นการเปลี่ยนแปลงนั้นที่เธออยากเห็น”

“Be the change you want to see in the world”

======

ปล. หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆครอบครัวในช่วงเวลานี้ครับ

เพื่อนๆอ่านแล้วมีประสบการณ์มุมมองอย่างไร ชวนแชร์แลกเปลี่ยนกัน เผื่อเป็นประโยชน์กับสังคมในวงกว้างด้วยครับ
.

บทความโดย : โอม รัตนกาญจน์ (5 ตุลาคม 2563)

#สันติวิธี
#ตื่นรู้ท่ามกลางความขัดแย้ง
#AwarenessInConflict
#Diversity #GenerationGap
#ConflictFacilitation #Facilitator
#DojoSpirit

.

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Facilitation/Facilitator ได้ที่

Facilitator ผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่กับการเปลี่ยนแปลงองค์กร  https://dojospirit.co/facilitator-for-od/

ทำความรู้จักกับ 3 บริบท ของงาน FACILITATOR  https://dojospirit.co/facilitator-contexts/

..

สนใจเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของการเป็นผู้นำแบบ Facilitator

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://dojospirit.co/facilitation-m1-oct2020/

.

สนใจปรึกษาปัญหาองค์กร/หลักสูตรพัฒนาผู้นำ

ติดต่อ : โทร 083 008 5588, 081 809 5525

Contact@DojoSpirit.co

www.dojospirit.co

 

 

 

 

Print Friendly, PDF & Email